สุขภาพดี เริ่มต้นที่ “ภูมิคุ้มกัน” การที่เราไม่เจ็บป่วยง่ายๆ เพราะร่างกายมีภูมิคุ้มกัน(หรือภูมิต้านทาน)คอยปกป้องอยู่ ภูมิคุ้มกันเป็นกลไกการป้องกันตนเองอย่างหนึ่งของร่างกาย เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายและอาจเป็นโทษ ระบบภูมิคุ้มกันก็จะออกมาต่อต้านหรือทำลายสิ่งแปลกปลอมนั้น ร่างกายจึงอยู่ได้อย่างปกติสุข เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักกับภูมิคุ้มกันดีขึ้นว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร หากเราจะเสริมสร้างภูมิคุ้มกันจะทำได้อย่างไร “หมอชาวบ้าน” ฉบับนี้จึงได้เชิญ ศ.ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช ผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มาตอบคำถามและให้ความรู้กับท่านผู้อ่านด้วยภาษาที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย
กลไกการทำงานของภูมิคุ้มกัน
การทำงานของภูมิคุ้มกัน เรียกรวมกันว่า ระบบภูมิคุ้มกัน (immune system) ในการทำงานแบ่งเป็น ๒ ระบบ คือ อาศัยเซลล์โดยตรง และอาศัยเซลล์โดยอ้อม ซึ่งทำงานสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน เรียกว่ารวมกันเป็นกองกำลังติดอาวุธและประจัญบานต่อต้านผู้บุกรุก ไม่ให้รุกรานร่างกาย
ภูมิคุ้มกันที่อาศัยเซลล์โดยตรง คือ เมื่อมีเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายและเม็ดเลือดขาวไปพบเข้าก็จะจับกินทำลายเสียเปรียบ กับการประจันหน้าศัตรูและใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกัน
สำหรับภูมิคุ้มกันที่อาศัยเซลล์โดยอ้อม คือ เมื่อเชื้อโรคเข้ามา เซลล์จะสร้างสารต่อต้าน สิ่งแปลกปลอมขึ้นมาเรียกว่า แอนติบอดี(antibody) แอนติบอดีจะไปจับกับสิ่งแปลกปลอมเหมือนแม่กุญแจกับลูกกุญแจ ทำให้สิ่งแปลกปลอมไม่สามารถแผลงฤทธิ์กับร่างกายได้ การสร้างสารภูมิคุ้มกันนั้น ในขั้นแรกเมื่อมีเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมเข้ามา จะมีเซลล์ไปทำความรู้จักกับเชื้อโรคแล้ว บรรจุข้อมูลส่งไปให้เซลล์ที่มี หน้าที่สร้างสารต่อต้าน หากเคยรู้จักแล้วก็จะสร้างสารต่อต้านออกมาเลย แต่ถ้ายังไม่เคยรู้จักเลยก็จะต้องส่งต่อให้เซลล์อีกตัวถอดรหัสก่อน เพื่อที่จะสร้างสาร ต่อต้านให้ถูกชนิดกับเชื้อโรคที่เข้ามา
สารภูมิคุ้มกัน(แอนติบอดี) แต่ละชนิดจะมีอายุไม่เท่ากัน บางชนิดก็อยู่ได้ไม่นาน บางชนิดก็อยู่ได้หลายปี บางชนิดก็อยู่ได้ตลอดชีวิต เช่น วัคซีน หัดเยอรมันที่คุ้มกันได้ตลอดชีวิต
ทำไมจึงไม่สบาย
ในเมื่อร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันที่ยอดเยี่ยมเช่นนี้ ทำไมบางครั้งเราจึงยังเจ็บป่วยได้อีก
คุณเคยสงสัยหรือเปล่าว่า ทำไมบางคนจึงแข็งแรง ไม่ค่อยเจ็บป่วย แต่บางคนอ่อนแอไม่สบายบ่อย อะไรเป็นปัจจัยให้แต่ละคนมีความต้านทานโรคต่างกัน
ความเจ็บไข้ได้ป่วยหรือความต้านทานโรคที่ต่างกันขึ้นอยู่กับ ๒ ปัจจัย คือ
๑. กรรมพันธุ์ปัจจัยนี้ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล แต่ละคนมีระบบภูมิคุ้มกันที่ได้รับการถ่ายทอดจากพ่อแม่ ฉะนั้นหากพ่อแม่มีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี ลูกก็ย่อมจะมีภูมิคุ้มกันที่ดีด้วย หากพ่อหรือแม่มีภูมิคุ้มกันบางจุดบกพร่อง ลูกก็อาจได้รับถ่ายทอดในจุดที่บกพร่องได้เช่นกัน แต่โดยทั่วๆไปภูมิคุ้มกันก็จะได้มาตรฐานระดับหนึ่ง
๒. สุขภาพร่างกายคนที่มีสุขภาพร่างกายอ่อนแอ ไม่ค่อยออกกำลังกาย กินอาหารไม่ครบหมู่ ขาดการดูแลสุขภาพ เมื่อได้รับเชื้อโรค ร่างกายจะต้องสร้างสารภูมิคุ้มกันได้เร็วและมากพอจึงจะกำจัดเชื้อโรคได้ ถ้าร่างกายอ่อนแอก็ทำให้ระบบอ่อนไป การสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายก็ไม่ค่อยดี จึงเกิดความเจ็บป่วยขึ้น
นอกจากการไม่ดูแลสุขภาพแล้ว การติดสารเสพติด ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ก็ทำลายสุขภาพด้วย
เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ถึงแม้แต่ละคนจะมีภูมิคุ้มกันที่ได้รับถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ต่างกัน แต่ก็สามารถมีภูมิคุ้มกันที่ดีได้เหมือนกัน หากมัวแต่คิดว่าเป็นปัจจัยทางพันธุกรรมแล้วไม่สู้โรค ก็เหมือนเป็นการซ้ำเติม ทำให้ร่างกายอ่อนแอลงไปอีก แต่ถ้าไม่ยอมแพ้ธรรมชาติ พยายามสร้างเสริม บางอย่างก็อาจจะดีขึ้น หรือการแพ้บางอย่างอาจจะหายไปเลยก็ได้
การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันก็มีหลักง่ายๆ ดังนี้
๑. อาหารกินอาหารให้ครบทุกหมู่และเพียงพอ และอาหารที่กินควรมีคุณภาพดี เช่น สด สะอาด ปนเปื้อนน้อยที่สุด ไม่กินอาหารหมักดอง อาหารที่ทอดหรือย่างจนไหม้เกรียม
๒. ออกกำลังกายการออกกำลังกายจะทำให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น มีการแตกแขนงของหลอดเลือดในเนื้อเยื่อต่างๆมากขึ้น ทำให้เม็ดเลือดขาวหรือภูมิคุ้มกันเข้าสู่ในเนื้อเยื่อต่างๆได้ง่าย เมื่อมีเชื้อโรคเข้ามาก็เข้าไปจัดการได้เร็ว
๓. ทำจิตใจให้เบิกบานจิตใจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินหรือสารสุขในร่างกาย สารนี้พอหลั่งออกมาทำให้ระบบการทำงานของเซลล์ดีขึ้น ในทางตรงข้ามหากจิตใจห่อเหี่ยว เศร้า เป็นทุกข์ ร่างกายจะหลั่งสารทุกข์ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ไม่ดี ร่างกายอาจเจ็บป่วยได้
สารเอ็นดอร์ฟินจะหลั่งเมื่อจิตใจมีความสุข สงบ เบิกบาน ฉะนั้นการคิดแต่สิ่งดีๆ คิดช่วยเหลือผู้อื่น คิดในด้านบวก ก็เป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เช่นกัน