กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อในร่างกายมนุษย์นั้นสำคัญแค่ไหน? ไปติดตามพร้อมกันเลยค่ะ กล้ามเนื้อ (Muscle) เป็นเนื้อเยื่อที่หดตัวได้ในร่างกาย เปลี่ยนแปลงมาจาก เมโซเดิร์ม (Mesoderm) ของชั้นเนื้อเยื่อในตัวอ่อน และเป็นระบบหนึ่งของร่างกายที่สำคัญต่อการเคลื่อนไหวทั้งหมดของร่างกาย
กล้ามเนื้ออ่อนแรง คืออะไร?
กล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia Gravis: MG) หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี คือโรคที่มีสาเหตุมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการหนังตาตก ยิ้มได้น้อยลง หายใจลำบาก มีปัญหาการพูด การเคี้ยว การกลืน รวมไปถึงการเคลื่อนไหวของร่างกาย โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยทุกเพศทุกวัย ปัจจุบัน การรักษาทำได้เพียงบรรเทาอาการ ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและเอาใจใส่จากคนรอบข้างอย่างสม่ำเสมอ
อาการของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
ปกติแล้วมักไม่พบอาการเจ็บหรือปวด แต่ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บหรือปวดหลังมีประจำเดือนหรือหลังออกกำลังกาย อาการที่สังเกตได้ตามบริเวณส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ตา ใบหน้า ลำคอ แขนและขา โดยอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีรายละเอียดดังนี้
1. กล้ามเนื้อรอบดวงตา หนังตาตกข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง เป็นอาการแรกที่สังเกตได้ รวมถึงพบปัญหาด้านการมองเห็น เช่น มองไม่ชัด หรือเห็นภาพซ้อน เป็นต้น อาการจะดีขึ้นเมื่อหลับตาข้างใดข้างหนึ่งลง
2. ใบหน้า หากกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกบนใบหน้าได้รับผลกระทบ จะทำให้การแสดงออกทางสีหน้าถูกจำกัด เช่น ยิ้มได้น้อยลง หรือกลายเป็นยิ้มแยกเขี้ยวเนื่องจากไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อบนใบหน้าได้
3. การหายใจ ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงจำนวนหนึ่งมีอาการหายใจลำบาก โดยเฉพาะเมื่อนอนราบอยู่บนเตียงหรือหลังออกกำลังกาย
4. การพูด การเคี้ยวและการกลืน เกิดจากกล้ามเนื้อรอบปาก เพดานอ่อน หรือลิ้นอ่อนแรง ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติบางอย่าง เช่น พูดเสียงเบาแหบ พูดเสียงขึ้นจมูก เคี้ยวไม่ได้ กลืนลำบาก ไอ
5. ลำคอ แขนและขา อาจเกิดขึ้นร่วมกับอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ มักเกิดขึ้นที่แขนมากกว่าที่ขา ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่น เดินเตาะแตะ เดินตัวตรงได้ยาก
การป้องกันโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- หลีกเลี่ยงโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ป้องกันการติดเชื้อต่างๆ ด้วยการมีสุขอนามัยที่ดี และหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย
- หากเกิดการติดเชื้อหรือป่วย ควรรีบรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้องทันที
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หนักเกินไป
- ไม่ควรทำให้ตัวเองรู้สึกร้อนหรือหนาวมากจนเกินไป
- ควบคุมความเครียด เป็นต้น
ปัจจุบัน การรักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงมีหลากหลายวิธี ส่วนใหญ่แพทย์จะรักษาตามอาการและเน้นเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง และเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับเงื่อนไขของผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงแต่ละบุคคล เช่น อายุ ความรุนแรงของอาการ ตำแหน่งที่เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น
ขอขอบคุณ
ข้อมูลอ้างอิงจากhttps://www.pobpad.com